วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
ศาสนสถาน
วัดพระพุทธบาทภูพานคำ
ตั้งบริเวณไหล่เขาภูพานคำ อำเภออุบลรัตน์ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองในมณฑป และ พระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ หรือหลวงพ่อใหญ่ สูง 14 เมตร อยู่บนยอดเขา มีบันไดทางขึ้นจากลานวัดไปยังยอดเขาจำนวน 1,049 ขั้น หรือจะขับรถยนต์ขึ้นไปถึงยอดเขาก็ได้ บนยอดเขามองเห็นทัศนียภาพทะเลสาบเขื่อนอุบลรัตน์ได้สวยงาม การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปเขื่อนอุบลรัตน์ ก่อนถึงประตูทางเข้าบริเวณเขื่อนจะมีป้ายวัดอยู่ด้านซ้ายมือ หรือจะใช้ทางเข้าวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาลอุบลรัตน์ก็ได้
วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนคร)
ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดหนองแวงซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานตากแห ภายในองค์พระธาตุมีอยู่ 9 ชั้น คือ (1) หอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุ (2) หอพัก (3) หอปริยัติ (4) หอปริยัติธรรม (5) หอพิพิธภัณฑ์ (6) หอพระอุปัชฌายาจารย์ (7) หอพระอรหันตสาวก (8) หอพระธรรม (9) หอพระพุทธ
วัดอุดมคงคาคีรีเขต
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโคก เป็นวัดป่าของหลวงปู่ผางซึ่งเคยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว แต่มีอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่ผางอยู่ในบริเวณวัด วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามีต้นไม้ป่าขึ้นอยู่ร่มรื่น เป็นวัดที่เน้นการปฏิบัติวิปัสสนา การเดินทาง ไปตามเส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ประมาณ 14 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าเส้นทางสายบ้านทุ่ม-มัญจาคีรี (ทางหลวงหมายเลข 2062) อีกประมาณ 44 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าเส้นทางสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 229) ประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าวัดอีก 12 กิโลเมตร
สิม วัดไชยศรี
สิม วัดไชยศรี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2408 เดิมเป็นอาคารแบบสิมอีสาน ภายหลังได้ซ่อมเสริมผนังให้สูงขึ้นและทำหลังคาทรงไทย มีฮูปแต้ม(จิตรกรรมฝาผนัง) เขียน ทั้งผนังด้านในและด้านนอกสี่ด้าน ผนังด้านในเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้า เรื่องเวสสันดรชาดก ผนังด้านนอกเขียนภาพนรกเจ็ดขุม เรื่องสินไซ สีที่ใช้เขียนเป็นสีฝุ่น วรรณะสีเย็น คือ สีคราม ฟ้า ขาวเป็นส่วนใหญ่
ฮูปแต้ม วัดไชยศรี มีลักษณะพิเศษ คือการเขียนภาพเต็มผนังไม่เหลือที่ว่าง ภาพคนมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก มีร่างกายไม่สมสัดส่วน ท่าทางดูเป็นธรรมชาติมากกว่านาฎลักษณ์ตัวภาพต่างๆ แสดงท่าทางเคลื่อนไหวโลดโผน มีกาาจัดองค์ประกอบอย่างเหมาะสม
วัดมัฌิมวิทยาราม (วัดบ้านลาน)
ตั้งอยู่ที่บ้านลาน ตำบลบ้านลาน อำเภอบ้านไผ่ สิมวัดบ้านลานสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2407 ภายในสิมเขียนภาพไว้บนผนังด้านหลังพระประธาน เป็นภาพพระพุทธรูป 2 องค์ ส่วนผนังภายนอกเขียนภาพเรื่องเวสสันดรชาดก โดยลำดับภาพเริ่มจากผนังด้านหน้าทิศตะวันออก ทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้รวม 9 ห้อง ภาพเริ่มจากกัณฑ์ทศพรถึงนครกัณฑ์ โดยเลือกภาพเป็นสื่แทนเรื่องราวแต่ละตอนให้เข้าใจง่าย และชัดเจน สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นในวรรณะสีเย็น
วัดสนวนวารีพัฒนาราม
ตั้งอยู่ที่บ้านหัวหนอง ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ สิมวัดสนวนวารีพัฒนารามสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2496 ภายในสิมเขียนภาพเรื่องเวสสันดรชาดก สินไซ ราหูอมจันทร์ นาค สิงห์ ส่วนด้านนอกเขียนภาพเรื่องสินไซ และนรกภูมิ หน้าต่างทำเป็นวงโค้ง 2 ชั้น เขียนลวดลายเครือเถาประดับอย่างสวยงามและไม่ซ้ำแบบกัน ผนังด้านนอกมีเสาติดผนังเขียนลายเครือเถา และลายพญานาคเกี่ยวพันกัน สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นทั้งผนังภายในและภายนอก
วัดสระบัวแก้ว
ตั้งอยู่ที่บ้านสระวังคูณ ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองสองห้อง สิมวัดสระบัวแก้วสร้างขึ้นราว ปีพ.ศ.2474 ภายในสิมเขียนภาพเริ่มจากผนังด้านหน้าเวียนไปทางซ้าย ส่วนด้านนอกเขียนภาพเรื่องพระลัก พระลาม การลำดับภาพเริ่มจากผนังด้านข้างองค์พระประธานเวียนมาทางด้านหน้า และจบที่ด้านหลังองค์พระประธานภาพเขียนของวัดนี้มีคุณค่าหลายๆด้าน อีกทั้งยังได้สอดแทรกประเพณีพื้นถิ่นต่างๆ ด้วยเช่น ประเพณีฮดสรง การทำคลอดโดยหมอตำแยผู้ชาย เป็นต้น สีที่ใช้เป็นสีน้ำมัน โดยรวมเป็นสีวรรณะร้อน คือ สีเหลืองและสีแสดทั้งผนังภายในและภายนอก
วัดป่าแสงอรุณ
ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดป่าแสงอรุณ ตำบลพระลับ ห่างจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นประมาณ 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางขอนแก่น-กาฬสินธุ์ สิมอีสาน ได้เน้นถึงรูปแบบ ทรวดทรง ความมั่นคงสามารถคุ้มแดดคุ้มฝน ตลอดจนความวิจิตรงดงามของภาพเขียนฝาผนังลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น อันเป็นการปลูกฝังแนวความคิดสร้างสรรค์ที่ดีต่อไป อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดขอนแก่นตลอดไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น